วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงการตามแนวพระราชดำริและทฤษฎีของในหลวง

โครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เช่น โครงการเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า และวิศวกรรม โดยการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวจะมีหน่วยงานพิเศษของทางราชการเป็นตัวกลางในการประสานงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างของโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีเนื้อหาดังนี้
1.โครงการกังหันชัยพัฒนา
   การบำบัดน้ำเสียตามพระราชดำริด้วย "กังหันน้ำชัยพัฒนา"
         กังหันชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (สามารถลอยขึ้นลงได้เองตามระดับน้ำ) ประกอบด้วยซองวิดน้ำ มีใบพัดที่ออกแบบเป็น ซองตักน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมูจำนวน 6 ซองแต่ละซองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องเท่าๆ กัน ทั้งหมดถูกติดตั้งบนโครงเหล็ก 12 โครงใน 2 ด้าน มีศูนย์กลางของกังหันที่เรียกว่า "เพลากังหัน" ซึ่งวางตัวอยู่บนตุ๊กตารองรับเพลา ที่ติดตั้งอยู่บนทุ่นลอย และมีระบบขับส่งกำลัง ด้วยเฟืองจานขนาดใหญ่ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า สำหรับขับเคลื่อนซองน้ำ ให้หมุนรอบเป็นวงกลม อยู่บนโครงเหล็กที่ยึดทุ่นทั้ง 2 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน ด้านล่างของกังหันในส่วนที่จมน้ำ จะมีแผ่นไฮโดรฟอยล์ยึดปลายของทุ่นลอ

          ตามทฤษฎีเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าการเติมอากาศหรือออกซิเจนเป็นหัวใจของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มาก จุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดี และบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น แต่ที่ความดันบรรยากาศซึ่งเป็นความดันที่ค่อนข้างต่ำ สำหรับออกซิเจนในการละลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่สัมผัส ระหว่างอากาศกับน้ำให้ได้มากที่สุด  กังหันชัยพัฒนา เป็นกังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย และมีซองตักวิดน้ำซึ่งเจาะเป็นรูพรุน เราจึงเห็นสายน้ำพรั่งพรู จากซองวิดน้ำขณะที่กังหันหมุนวนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้หลักการวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายให้เป็นฝอยในอากาศ ทำให้น้ำสัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ปริมาณ ออกซิเจนในอากาศสามารถ ละลายผสมผสาน เข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่น้ำถูกตักขึ้นมา ออกซิเจนในอากาศจะละลายในน้ำได้ดีขึ้น เพราะพื้นที่ในการทำปฏิกิริยามีมากกว่าเดิม ทำให้น้ำเสีย ซึ่งเป็นปัญหาของแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ มีคุณภาพที่ดีขึ้น
         ดังนั้น การเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพ ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และใช้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อย
“กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์ด้วย จึงนับได้ว่าสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็น

"สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก"

 


2.โครงการ"แก้มลิง"

แผนภาพแสดงพระราชดำริแก้มลิง
   แก้มลิง เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพื้นที่หน่วงน้ำ (detention area) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"                 

 
                             
โครงการ '' แก้มลิง
ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ไว้ 5 แนวทาง คือ ประการแรก สร้างคันกั้นน้ำ  โดยปรับปรุงแนวถนนเดิม ประการที่สอง จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt)   ตามพระราชดำริ เพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อมีน้ำหลาก ประการที่สาม ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ ประการที่สี่ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ ประการที่ห้า ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง
 วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่าง ๆ คือ
1. การก่อสร้างคันกันน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านใน
2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้น เข้ามาให้ออกไป
3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น




การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ "แก้มลิง"
1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง 
4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว

(One Way Flow) หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ
1. การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
2. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
3. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง

โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ
1. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
2. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
3. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"

        โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."

 
3.โครงการแกล้งดิน
      แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

      หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ไดผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรียวัตถุ หรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และมีระดับความลึก ๑-๒ เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก
        ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์
จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ
ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยว จะมีค่า pH เพิ่มขึ้น หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ก็จะทำให้พืชให้ผลผลิตได้
ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน
ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกัน
4.โครงการฝนเทียม
ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ " ฝนหลวง "
ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยม พสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทรงพบเห็นว่าหลายแห่งประสบปัญหา พื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักประสบความเดือดร้อนจากภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง  ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น และได้มีพระราชดำริครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล  ว่าจะทรงค้นหา วิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ กับทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม" จึงกำเนิดขึ้นโดยประยุกต์ผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านฝนเทียมของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล ภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่าง ใกล้ชิดพร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้ง "สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง" ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานฝนหลวงในระยะต่อ มาจนถึงปัจจุบัน
การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ
                ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็น แกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ แคลเซียมคลอ
ไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมอ๊อกไซด์ หรือสารผสมระหว่าง เกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสม ระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งสารผสมดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ
                 ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ขั้นตอนนี้ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย สารแอมโมเนียไนเตรท น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำ (Nuclii) ให้กลุ่มเมฆฝน มีความหนาแน่นมากขึ้น
                 ขั้นตอนที่ 3 โจมตี สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือซิลเวอร์ไอโอได น้ำแข็งแห้ง เพื่อทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำ ที่มีขนาดใหญ่มากและตกกลายเป็นฝนในที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงสภาพอากาศสภาพภูมิประเทศทิศทางและความเร็วของลม ตลอดจนกำหนดบริเวณหรือแนวพิกัด ที่จะโปรยสารเคมี
ประโยชน์ของการทำฝนหลวง
            
1. เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงยาวนานเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ ให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง
                 2. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำโดยเฉพาะในบริเวณแม่น้ำที่ตื้นเขินให้สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้
                 3. เพื่อป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม "ฝนหลวง" ได้บรรเทาภาวะแวดล้อมเป็นพิษอันเกิดจากการระบาย น้ำเสีย และขยะมูลฝอยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง
                 4. เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าฝนหลวงในอนาคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวความคิดให้ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาฝนหลวงหลายประการ คือ สร้างจรวดฝนเทียมบรรจุสารเคมีจากพื้นดินเข้าสู่เมฆหรือยิงจากเครื่องบิน   การใช้เครื่องพ่นสารเคมีอัดแรงกำลังสูงจากยอดเขาสู่ฐานของก้อนเมฆโดยตรง เพื่อช่วยให้เมฆที่ลอยปกคลุมอยู่เหนือยอดเขาสามารถรวมตัวหนาแน่น จนเกิดฝนตกลงสู่บริเวณภูเขาหรือพื้นที่ใต้ลมของภูเขา
5.โครงการฝายแม้ว
ฝายแม้ว คือ สิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอ การไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
รูปแบบและลักษณะฝายนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......
นอกจากนี้ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึง ฝายต้นน้ำลำธาร ในรายการ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทางคลื่น F.M. 92.5 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2547 เวลา 08.00 น. ดังนี้

",,,ฝายแม้ว หรือ เช็คแดม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริตามแบบที่ได้ทรงทำที่ห้วย ฮ่องไคร้ที่เชียงใหม่ ผมก็เลยมอบนโยบายตามแนวพระราชดำรินี้ไปให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายว่า เพื่อให้ภูเขาต่างๆ ได้เขียว เพราะไม่งั้นความแห้งแล้งจะได้เกิดขึ้นตลอด เขาก็ไปทำฝายแม้วที่หนองบัวลำภู ซึ่งผมไปดูมา เขานั้นแห้งแล้งมาก แต่ปรากฏว่าพอฝนเริ่มตกมาก็มีน้ำ ฝายแม้วทั้งหลายก็กักเก็บน้ำได้นิดหน่อยๆ เพื่อให้เกิดความชื้นของภูเขา เพราะเขาลูกหนึ่งมีตั้งพันกว่าเขื่อน ส.ส.มาบอกผมว่าไปตรวจอีกครั้งหนึ่งตอนนี้เริ่มมีลูกอ๊อดแล้ว เต็มไปหมด ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมันมีของมันอยู่ เมื่อมีความชุ่มชื้น ธรรมชาติกลับคืนมานี่ สิ่งที่มันเป็นสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ มันก็จะเริ่มฟื้นคืนขึ้นมา และมันเป็นวิถีชีวิต มันเป็นของที่ควบคู่กับชาวบ้าน ผมก็ดีใจว่า สิ่งเหล่านี้ได้ผลรวดเร็วมาก ทุกจังหวัดก็ได้ทำกัน ทีนี้ป่ามันก็จะคืนสภาพได้ต่อมา เหมือนที่ห้วยฮ่องไคร้ซึ่งป่าถูกทำลายทั้งเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำตามที่ผมเล่าให้ฟังนี่ ก็ปรากฏว่าป่าก็คืนสภาพ ไก่ป่า ไก่อะไรก็เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นอันนี้เราจะต้องฟื้นคืนสภาพ,,,,"



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับเรื่อง ฝาย (แม้ว) วุ่นๆ
Wed, 2008-10-29 22:40
สิน สันป่ายาง
ประมาณ 2 เดือนผ่านมาท่านผู้สนใจติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็คงจะพบเรื่องราวอันงาม(หน้า)ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่ไอเดียอันบรรเจิดเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้สัมปทานแก่กลุ่มธุรกิจเอกชน ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับงบประมาณการสร้างฝายแม้ว ตลอดจนเรื่องราววุ่นๆ เกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านได้ติดตามและลองวิเคราะห์ดูก็คงจะทราบว่า ประเด็นปัญหาทั้งสามเรื่องล้วนมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมองค์กรของคนในกระทรวงเองที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนา แต่ครั้งนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะประเด็นฝายแม้วเท่านั้น
ฝายแม้วหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "ฝายชะลอความชุ่มชื้น" หรือ "Check dam" นั้น เราไม่สามารถสืบค้นได้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงมีมาได้อย่างไร อาจจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ที่มีมาแต่โบราณกาล ที่แน่นอน คือ องค์ความรู้นี้ได้ถูกพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ผ่านพระอัจฉริยภาพอันไร้ขีดจำกัดขององค์พระบาทสมเด็จของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานในพื้นที่สูงมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน โดยมีพระราชดำริเห็นควรให้มีการสร้างฝายเพื่อเก็บกักความชื้น รวมถึงดักตะกอนและชะลอความรุนแรงของน้ำในลำธารบนพื้นที่สูงไปพร้อมกัน เมื่อน้ำในลำธารลดความเร็วลง ความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นก็จะแผ่กระจายไปรอบๆ ร่องน้ำเหล่านั้น ทำให้เหล่าพืชพันธุ์ ต้นไม้ได้เจริญเติบโต เป็นแนวกันไฟและเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมหรือความจะเป็นในการสร้างฝายแตกต่างกัน
ฝายชะลอความชุ่มชื้นมี 3 ประเภทตามรูปแบบการก่อสร้างและอายุการใช้งาน คือ ฝายชั่วคราว ฝายกี่งถาวร และฝายแบบถาวร ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

 - ฝายชั่วคราว ใช้วัสดุที่หาได้ใกล้ๆ กับจุดที่จะทำฝาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไผ่ ท่อนไม้ ตอก หินและทรายในท้องน้ำ โดยใช้ถุงปุ๋ยเป็นภาชนะบรรจุทรายและหิน ซึ่งจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างต่ำมาก (ไม่ถึงแห่งละ 300 บาท)
- ฝายกึ่งถาวร วัสดุส่วนใหญ่จะคล้ายกับฝายชั่วคราว แต่จะมีการเสริมความแข็งแรงของฝาย ซึ่งอาจจะใช้แท่งคอนกรีตและลวดตาข่าย ทำให้มีความคงทนถาวรกว่าฝายประเภทแรก แต่ก็ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นเช่นกัน
- ฝายแบบถาวร วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นหิน กรวด ทราย และปูนซีเมนต์ ซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างมากที่สุด
ความเหมาะสมของการก่อสร้างฝายแต่ละประเภท ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิประเทศ การเข้าถึง และความจำเป็นในการก่อสร้าง สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ไม่เอื้ออำนวยให้สร้างฝายแบบถาวรได้มากนัก ส่วนมากที่สุดจะเป็นฝายแบบชั่วคราว และมีฝายแบบกึ่งชั่วคราวอีกบ้างเล็กน้อย แต่ฝายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุดจะเป็นฝายแบบชั่วคราว ซึ่งแม้จะไม่ทนทานเป็นสิบปีแต่การก่อสร้างก็เป็นการสร้างความร่วมมือของกลุ่มคนในท้องถิ่น ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

        พระราชดำริเรื่องฝายแม้วได้ถูกหลายกลุ่มองค์กรนำไปขยายผลและทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่หน่วยงานหรือกลุ่มระดับท้องถิ่นไปจนถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ที่พบบ่อย คือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งต่อมาได้แบ่งภารกิจไปอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานหลักก็คือกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบจริงๆ ก็คือ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ โดยมีหน่วยงานย่อยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำ เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและฟื้นฟูสภาพนิเวศต้นน้ำ ในขณะที่ข่าวคราวความไม่โปร่งใสที่เราทราบผ่านสื่อ กลับมาจากหน่วยงานย่อยอีกแห่งหนึ่ง คือ สำนักอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมิได้มีภารกิจโดยตรงในการก่อสร้างฝาย แต่จะเป็นการให้การร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่นเพื่อการก่อสร้างฝายมากกว่า หากแต่แหล่งข่าวในพื้นที่กลับบอกว่า การก่อสร้างฝายมิได้เป็นไปตามข้อตกลงและนโยบายในการดำเนินการก่อสร้างฝาย เพราะมีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว

        งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างฝายแต่ละแห่ง ไม่มีทางที่จะถึง 5,000 บาทอย่างแน่นอน เพราะเป็นการก่อสร้างฝายแบบชั่วคราวโดยใช้ไม้ไผ่ หินและทรายในร่องน้ำ โดยมีการเทปูนซิเมนต์ทับด้านบนฝายให้ดูดีเท่านั้น หากคำนวณค่าแรงก่อสร้าง (ซึ่งที่จริงไม่ต้องจ่ายเพราะใช้แรงงานของลุกจ้างอุทยานซึ่งกินเงินเดือนจากกรมอุทยานฯ อยู่แล้ว) บวกค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องซื้อแล้วก็ยังไม่ถึง 1,000 บาทต่อแห่งอยู่ดี

        หากต้องการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมจริงๆ แล้ว งบประมาณที่จะใช้ก็ยิ่งต่ำลงมาก เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านมีการสร้างฝายกันเป็นประจำอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างฝายแต่ละแห่งจึงแทบจะไม่มี หากคิดค่าก่อสร้างแห่งละ 500 บาท แล้วหักออกไปเป็นค่าอาหารของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมมือกันทำ ก็ยังมีเงินส่วนที่เหลือเพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาทรัพยากรของอุทยานฯ ได้อีก เป็นต้นว่านำไปเป็นกองทุนคุ้มครองอุทยานร่วมกับชุมชน การตรวจพื้นที่ป่าร่วมกัน การทำแนวกันไฟร่วมกันระหว่างพื้นที่ ฯลฯ

           ฉะนั้น งบการก่อสร้างฝายกว่า 700 ล้านบาทนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจริงไปเกือบ 20 เท่า เพราะมิได้มีการก่อสร้างตามต้นทุนที่แท้จริง มิได้มีการจ่ายค่าแรงในการก่อสร้าง มิได้ก่อสร้างให้ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้จริง ที่สำคัญมิได้เปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการใดๆ เป็นเพียงแค่การชงเรื่องของข้าราชการในกระทรวงฯ ร่วมกับนักการเมืองบางพวก แล้วอ้างว่าดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการนำงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของคนทั้งประเทศไปงุบงิบให้เพียงแก่ข้าราชการและนักการเมืองบางจำพวก สร้างความร่ำรวยแก่เครือข่ายและพวกพ้องของพวกเขา ซึ่งดูจะเป็นวัฒนธรรมของนักการเมืองและข้าราชการกลุ่มนี้ไปแล้ว โดยผู้เสียหายที่แท้จริงก็คือ ประชาชนและประเทศชาติ
หากกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมอุทยานฯ ต้องการดำเนินนโยบายให้สัมฤทธิ์ผลและโปร่งใสอย่างแท้จริง จะต้องมอบหมายภาระหน้าที่ให้หน่วยงานย่อยอย่างถูกต้อง ซึ่งในกรณีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นนี้ อาจจะมอบหมายให้หน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง แล้วดำเนินการ่วมกับชาวบ้าน กลุ่มและองค์กรในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการฝ่ายอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน พ่อค้า องค์กรธุรกิจ สถานศึกษา ฯลฯ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง
ท้ายที่สุดนี้ขอฝากไว้ว่า ในขณะที่บ้านเมืองกำลังทุกข์ระทมและแตกแยก ประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อสู้เรียกร้องเพื่ออำนาจรัฐที่เป็นธรรม ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งต่อสู่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ยากไร้ แต่ข้าราชการและนักการเมืองพันธุ์ดังกล่าวยังคงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมปรับตัว กลับอาศัยโอกาสนี้ทำโครงการและใช้งบประมาณเพื่อพวกพ้องของตนเองอย่างไร้จิตสำนึก โดยไม่ใส่ต่อทุกข์ของสังคมไทยใดๆ ทั้งสิ้น หวังเพียงแต่ว่า หากประชาชนทั้งสองกลุ่มกลับมารวมเป็นกลุ่มที่สามัคคีดังเดิมได้เมื่อใด เหล่าข้าราชการและนักการเมืองพันธุ์เหล่านี้จะต้องพบกับคำว่า "ระวังจะไม่มีแผ่นดินอยู่"
แหล่งที่มา :
1.โครงการกังหันชัยพัฒนา
5.โครงการฝายแม้ว
http://www.siamsport.co.th/Thaileague/BoardDetail.asp?IDB=8068
http://www.prachatai.com/journal/2008/10/18770
 
รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม
1.น.ส. ชัชฎาพร   ชำนาญ                รหัสฯ 53492441012    รับผิดชอบหาข้อมูลโครงการฝายแม้ว
2.น.ส. ถลัชนันท์  ยงตระการ           รหัสฯ 53492441018    รับผิดชอบหาข้อมูลโครงการกังหันฯ
3.น.ส. กนิษฐา      ปรีชาวิทยาพละ   รหัสฯ 53492441029   รับผิดชอบหาข้อมูลโครงการแก้มลิง
4.น.ส. พิชานันท์   สุคำภา                รหัสฯ 53492441036    รับผิดชอบหาข้อมูลโครงการแกล้งดิน
5.น.ส. ธิดารัตน์    ธีระติวัฒน์          รหัสฯ 53492441038     รับผิดชอบเรียบเรียงข้อมูล ทำบล๊อก
6.นาย พัชรพันธ์   ชาญเชี่ยว            รหัสฯ 53492441039    รับผิดชอบหาข้อมูลโครงการฝนเทียม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น